ปราจีนบุรี  

                  ปราจีนบุรี เป็นจังหวัดชายแดนอยู่ทางทิศด้านตะวันออก ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๑๓๕ กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ ๔,๗๖๒ ตารางกิโลเมตร เคยเป็นดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวารวดี และต่อเนื่องมาจนถึงสมัยลพบุรีประมาณ ๘๐๐ ปี ก่อนปรากฏหลักฐานเป็นซากเมืองโบราณที่เรียกว่า “เมืองศรีมโหสถ” ที่ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ และทางด้านทิศตะวันออกของเมืองศรีมโหสถ บริเวณบ้านโคกขวาง อำเภอศรีมหาโพธิ ยังพบชุมชนโบราณอายุร่วมสมัยเดียวกันกับเมืองศรีมโหสถ บริเวณซากเมืองโบราณเหล่านี้มีซากโบราณสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรม ศาสนกิจ และโบราณวัตถุ ได้แก่ พระพุทธรูป เทวรูป เครื่องปั้นดินเผา เครื่องสำริด    ซึ่งเป็นเครื่องมือ และเครื่องใช้กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป  

 

                  ต่อมาศูนย์กลางความเจริญได้ย้ายมาตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงดังเช่นปัจจุบัน ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เรียกว่า “เมืองปราจีน” ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ยังเรียกว่า “เมืองปราจิณ” หรือ “มณฑลปราจิณ” จวบจนในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบการปกครองแผ่นดินตามแบบต่างประเทศ มณฑลปราจิณได้ถูกยุบเลิก คงมีฐานะเป็นเพียงหัวเมืองเมืองหนึ่ง ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่า “เมือง” เป็น “จังหวัด” จึงมีชื่อเรียกใหม่ว่า จังหวัดปราจีนบุรี  

อาณาเขต  
ทิศเหนือ 
ติดต่อกับจังหวัดนครราชสีมา  
ทิศใต้ 
ติดต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรา  
ทิศตะวันออก  
ติดต่อกับจังหวัดสระแก้ว  
ทิศตะวันตก 
ติดต่อกับจังหวัดนครนายก  
การปกครอง  

                  จังหวัดปราจีนบุรีแบ่งการปกครองออกเป็น ๗ อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอบ้านสร้าง อำเภอประจันตคาม อำเภอศรีมโหสถ อำเภอศรีมหาโพธิ อำเภอกบินทร์บุรี และอำเภอนาดี  

การเดินทาง  
รถยนต์  จากกรุงเทพฯ สามารถใช้เส้นทางได้หลายเส้นทาง ได้แก่  
 

                  . จากกรุงเทพฯ สามารถใช้เส้นทางสายถนนพหลโยธิน พอถึงรังสิตให้ชิดซ้ายโดยใช้สะพานวงแหวนข้ามมาลงที่เส้นทางหลวงหมายเลข ๓๐๕ เลียบคลองรังสิตผ่านอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก แล้วให้เข้าเส้นทางหลวงหมายเลข ๓๓ เส้นนครนายก-ปราจีนบุรี พอถึงแยกขวาที่สามแยกหนองชะอมประมาณกิโลเมตรที่ ๑๕๕ ให้ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๓๑๙ ก็จะถึงตัวจังหวัดปราจีนบุรี  ระยะทางประมาณ ๑๓๒ กิโลเมตร

                    . จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๑ ผ่านอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พอถึงประมาณกิโลเมตรที่ ๙๐ ให้เลี้ยวขวาโดยใช้เส้นทางหมายเลข ๓๓ ผ่านอำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี และจังหวัดนครนายกไปจนถึงประมาณกิโลเมตรที่ ๑๕๕ ให้แยกขวาที่สามแยกบ้านหนองชะอม เส้นทางหลวงหมายเลข ๓๑๙ ก็จะถึงตัวเมืองปราจีนบุรี ระยะทางประมาณ ๑๖๔ กิโลเมตร

                  . จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมาย ๓๐๔ ผ่านจังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอพนมสารคาม แล้วให้เข้าเส้นทางหลวงหมายเลข ๓๑๙ ผ่านอำเภอศรีมโหสถ ก็จะถึงตัวเมืองปราจีนบุรี  ระยะทาง ๑๕๘ กิโลเมตร  

                  รถโดยสารประจำทาง  บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการรถโดยสารประจำทาง ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต ถนนกำแพงเพชร ๒ ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ทั้งรถโดยสารธรรมดา และรถโดยสารปรับอากาศ ติดต่อสอบถาม รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๒๙๓๖ ๒๘๕๒-๖๖ หรือ เว็ปไซด์ : www.transport.co.th  

 

                  รถไฟ   การรถไฟแห่งประเทศไทย มีบริการขบวนรถไฟสายกรุงเทพฯ-ปราจีนบุรี ออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพงทุกวัน ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง โทร. ๐ ๒๒๒๓ ๗๐๑๐, ๐ ๒๒๒๓ ๗๐๒๐, ๑๖๙๐ หรือ เว็ปไซด์ www.srt.or.th  

ระยะทางจากอำเภอเมืองปราจีนบุรีไปยังอำเภอต่าง ๆ  

อำเภอบ้านสร้าง        ๒๐  กิโลเมตร

อำเภอศรีมโหสถ         ๒๐  กิโลเมตร  

อำเภอศรีมหาโพธิ      ๒๑  กิโลเมตร  

อำเภอประจันตคาม    ๓๐  กิโลเมตร  

อำเภอกบินทร์บุรี       ๖๐  กิโลเมตร  

อำเภอนาดี                   ๗๘  กิโลเมตร  

ระยะทางจากจังหวัดปราจีนบุรีไปยังจังหวัดใกล้เคียง   

 นครนายก                 ๒๙  กิโลเมตร

ฉะเชิงเทรา                   ๗๖  กิโลเมตร  

 สระแก้ว                    ๙๘  กิโลเมตร      

ระยอง                           ๑๘๖ กิโลเมตร  

 นครราชสีมา            ๑๙๔  กิโลเมตร    

จันทบุรี                    ๒๔๕ กิโลเมตร

                  นอกจากนั้นที่บริเวณสี่แยกเนินหอมมีรถโดยสารประจำทาง หรือจะเช่ารถไปยังแก่งหินเพิง หรือ น้ำตกต่าง ๆ และสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ได้    

สถานที่น่าสนใจ อำเภอเมือง  

                  ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ประดิษฐานอยู่ ณ สี่แยกเนินหอม อยู่ห่างจากตัวเมืองปราจีนบุรีไปทางทิศเหนือ ตามเส้นทางหลวงหมายเลข ๓๒๐ ประมาณ ๙ กิโลเมตร  วงเวียนศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะตั้งอยู่ทางขวามือ ศาลแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในท่าประทับยืน เหตุที่สร้างศาลขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระองค์ท่านในคราวกรีฑาทัพจากกรุงศรีอยุธยา เพื่อไปปราบนักพระสัฏฐาแห่งเมืองละแวก ระหว่างการเดินทางทัพได้หยุดพักทัพ ที่เขตจังหวัดปราจีนบุรี ประชาชนชาวจังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดใกล้เคียงนิยมมาสักการะบูชาเพื่อเป็นสิริมงคล  

                  พิพิธภัณฑ์พระครูอุทัยธรรมธารี อยู่ถัดจากศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไปทางจังหวัดสระแก้ว เป็นสถานที่รวบรวมโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์และศิลปะของประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งของที่จัดทำขึ้นใหม่เลียนแบบศิลปะโบราณ ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีโบราณวัตถุประมาณ ๙๐๐ ชิ้น อาทิ กำไลสำริด ภาชนะดินเผา เครื่องเคลือบ พระพุทธรูปปางต่างๆ เหรียญเงินตราของประเทศเพื่อนบ้านสมัยก่อน กี๋รูปกลมแบบ ๕ ขา  

 

                  วัดแก้วพิจิตร   ตั้งอยู่ริมฝั่งด้านขวาของแม่น้ำบางปะกง ในเขตเทศบาลเมืองปราจีนบุรี      ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๒ กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่สร้างเมื่อปี พ.. ๒๔๒๒ โดยเศรษฐีนีใจบุญชาวปราจีนบุรีชื่อนางประมูลโภคา (แก้ว  ประสังสิต) ภรรยาของขุนประมูลภักดี ต่อมาในปี พ.. ๒๔๕๖ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ได้สร้างพระอุโบสถเพิ่มเติม จึงมีลักษณะทางสถาปัตยกรรม และลวดลายประดับอาคารประสมประสานระหว่างศิลปไทย จีน ยุโรป และเขมร สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ พระอุโบสถที่ฝาผนังด้านนอกมีภาพปูนปั้นเรื่องรามเกียรติ์ ภายในพระอุโบสถมีภาพวาดบนแผ่นผ้าเกี่ยวกับเรื่องราวในพระพุทธศาสนา เช่น ทศชาติชาดก มารผจญ วาดโดยช่างหลวงในรัชกาลที่ ๖ ด้านหน้าพระอุโบสถมีอาคารเรียนหนังสือไทยนักธรรมบาลีเป็น อาคารคอนกรีต รูปสถูปโดม ศิลปกรีกหรือโรมันอยู่หลังหนึ่ง นอกจากนั้นภายในวัดแก้วพิจิตรยังมีหอพระไตรปิฎกและศาลาตรีมุขที่ท่าน้ำ บรรยากาศภายในวัดร่มรื่น

                  ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดปราจีนบุรี  ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ถนนปราจีนอนุสรณ์ ข้างหอประชุมอำเภอเมือง เดิมเป็นอาคารในโรงจักรถลุงทอง จัดสร้างโดยพระปรีชากลกาล (สำอาง อมาตยกุล) สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีสถาปัตยกรรมผสมระหว่างศิลปกรรมไทยกับแบบตะวันตก ทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน   และได้ทำการบูรณะซ่อมแซม  จัดทำเป็นศูนย์วัฒนธรรมเพื่อเป็นที่รวบรวมเอกสาร วัตถุโบราณ สิ่งของ เครื่องมือ เครื่องใช้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ประเพณี และวัฒนธรรมของชาวบ้านในท้องถิ่น  

 

                  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี  ตั้งอยู่ทางด้านหลังของศาลากลางจังหวัดปราจีนบุรี ประมาณ ๒๐๐ เมตร เป็นพิพิธภัณฑสถานประเภทประวัติศาสตร์โบราณคดี ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมของโบราณวัตถุในเขต ๗ จังหวัด คือ ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ตราด และระยอง ภายในมีการจัดแสดงโบราณวัตถุสำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่ได้มาจากเมืองโบราณสมัยทวาวดี อาทิ พระพุทธรูป เทวรูปเคารพในศาสนาฮินดู  ศิวลึงค์ ทับหลัง เครื่องใช้สำริด และ จัดแสดงศิลปะในประเทศไทยสมัยต่างๆ  ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาเปรียบเทียบ รวมทั้งเครื่องถ้วยสังคโลกที่พบใต้ทะเลจากบริเวณเกาะคราม จังหวัดชลบุรี นอกจากนั้นยังจัดสถานที่ส่วนหนึ่งสำหรับนิทรรศการชั่วคราวในโอกาสต่าง ๆ ด้วย พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ปิดวันจันทร์  วันอังคาร อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๓๐ บาท ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๓๗๒๑ ๑๕๘๖  

                  ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อยู่ภายในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ถนนปราจีนอนุสรณ์ ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๒.๕ กิโลเมตร เป็นตึกที่เจ้าพระยาอภัยภูเบศรสร้างขึ้นโดยทรัพย์สินส่วนตัว ในปี พ.. ๒๔๕๒ เพื่อถวายเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวเสด็จประพาสมณฑลปราจีน มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นตึกสองชั้นแบบยุโรป สมัยเรอเนสซองส์ มีมุขด้านหน้า ตรงกลางเป็นโดม ผนังด้านนอกเป็นปูนปั้นลายพฤกษาประดับซุ้มประตูและหน้าต่าง ภายในตกแต่งแบบตะวันตก กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว ภายในตึกจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร โดยจะเป็นศูนย์การรวบรวมอนุรักษ์ตำราไทย สมุนไพรไทย การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านของจังหวัดปราจีนบุรี อีกทั้งยังเป็นแหล่งการศึกษา  ค้นคว้า วิจัย และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพร และการแพทย์ของท้องถิ่น โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นโรงพยาบาลนำร่องเรื่องการแพทย์แผนไทย ใช้สมุนไพรบำบัดยารักษาโรค มีการนวด อบ ประคบและฝังเข็ม แปรรูปสมุนไพรไทยเป็นเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง  จำหน่ายในราคาย่อมเยา โทร. ๐ ๓๗๒๑ ๑๐๘๘  

 
วัดโบสถ์

                  อยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมืองปราจีนบุรี ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ภายในวัดมีพระพุทธรูป ๓ องค์ ประดิษฐานเรียงรายไปตามริมแม่น้ำ คือ พระพุทธรูปปางลีลา พระนามว่า “พระสิริมงคลนิมิต” พระพุทธรูปปางประทับนั่งห้อยพระบาท พระนามว่า “พระสรรพสิทธินาวา” พระพุทธรูปปางประทับนอน พระนามว่า “พระมหาชินไสยาสน์” ภายในวัดมีบรรยากาศร่มรื่นเงียบสงบ   

 
การเดินทาง

                  จากถนนเทศบาลดำริถึงสี่แยกถนนสุวินทวงศ์ ทางหลวงหมายเลข ๓๑๙ แล้วตรงไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๐๗๑ ระยะทางประมาณ ๔ กิโลเมตร  

 
สวนนกวัดสันทรีย์  

                  ตั้งอยู่ที่ตำบลวัดเป็นที่ชุมนุมของนกนานาชนิด เช่น นกแขวก นกกาน้ำ นกกระยาง จำนวนนับหมื่นจะมาชุมนุมกันทุกปี ในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนเมษายน เป็นช่วงที่เหมาะสำหรับนักดูนก  

 
การเดินทาง

                  ใช้เส้นทางเข้าทางเดียวกับวัดโบสถ์แต่มีทางแยกขวามือ ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๘ กิโลเมตร  

 
สวนพันธุ์ไผ่  

                  ตั้งอยู่ที่ตำบลเนินหอม มีเนื้อที่ประมาณ ๓๐๐ ไร่ เป็นสถานที่รวบรวมพันธุ์ไผ่นานาชนิดปลูกไว้เพื่อการศึกษา และขยายพันธุ์ อยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์  การเดินทาง  จากทางหลวงหมายเลข ๓๓ เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกเนินหอม (วงเวียนศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) ไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๐๗๗ สายแยกเนินหอม-เขาใหญ่ ซึ่งเป็นถนนไปอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ระยะทางประมาณ ๑๑ กิโลเมตร หรือห่างจากตัวเมืองประมาณ ๒๐ กิโลเมตร  

 
น้ำตกเหวนรก

                  อยู่บนเส้นทางสายปราจีนบุรี-เขาใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ของจังหวัดปราจีนบุรี นครนายก นครราชสีมา และสระบุรี เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สวย ความสูงประมาณ ๖๐ เมตร  และมีหน้าผาสูงชัน   น้ำไหลแรงสู่หุบเหวเบื้องล่างในช่วงฤดูฝน 

 
การเดินทาง

                  จากตัวเมืองปราจีนบุรีไปตามถนนสุวรรณศรจนถึงสี่แยกเนินหอม (เวียนศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๐๗๗ ไปจนถึงกิโลเมตรที่ ๒๔ ซึ่งเป็นทางขึ้นเขาใหญ่ เป็นระยะทางประมาณ ๔๐ กิโลเมตร จะมีทางแยกขวาเข้าไปตัวน้ำตก การเดินทางที่จะเข้าไปชมน้ำตกนั้นต้องเดินเท้าเป็นระยะทาง ๑ กิโลเมตร บริเวณต้นน้ำตกมีทางเดินลงไปยังจุดชมวิวน้ำตกที่สามารถมองเห็นน้ำตกเหวนรกในมุมมองที่สวยงาม  

 
น้ำตกห้วยเกษียร

                  บริเวณตัวน้ำตกเป็นป่าเขา ปากทางแยกเข้าน้ำตกแห่งนี้อยู่ที่หมู่บ้านขอนขวาง ตำบลดงขี้เหล็ก ซึ่งอยู่ตรงหลักกิโลเมตรที่ ๑๖๖ หรือห่างจากตัวเมืองปราจีนบุรีประมาณ ๑๕ กิโลเมตร แยกซ้ายมือเข้าสู่ตัวน้ำตกอีกประมาณ ๔ กิโลเมตร  

 
อ่างเก็บน้ำจักรพงษ์

                  ก่อสร้างเป็นเขื่อนดิน สูงประมาณ ๑๖.๕๐ เมตร ยาว ๗๔๐ เมตร จากปากทางเข้าอ่างเก็บน้ำให้เลี้ยวซ้ายจะมีถนนขึ้นไปจนถึงยอดเขาเพื่อชมทัศนียภาพโดยรอบ ระยะทางประมาณ ๑๑ กิโลเมตร และช่วงกิโลเมตรที่ ๖ จะเป็น น็นน็เนินพิศวง หรือเนินมหัศจรรย์ ยาวประมาณ ๑๕๐ เมตร ถ้าจอดรถแล้วปล่อยเกียร์ว่างไว้รถจะไหลขึ้นเนินได้ซึ่งเกิดจากภาพลวงตาจากภูมิประเทศโดยรอบ 

 
การเดินทาง 

                  จากสี่แยกเนินหอม แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๓ ไปอีกประมาณ ๓ กิโลเมตร จะมีป้ายบอกให้แยกซ้ายมือ ระหว่างกิโลเมตรที่ ๑๖๐-๑๖๑ เลยไปอีกประมาณ ๒ กิโลเมตร ก็จะถึงอ่างเก็บน้ำจักรพงษ์  

 
น้ำตกเขาอีโต้

                  ตั้งอยู่ที่ตำบลเนินหอม น้ำตกเขาอีโต้เป็นธารน้ำที่ไหลผ่านโขดหินน้อยใหญ่ลดหลั่นเป็นชั้นๆ ความสูงไม่มากนัก สภาพบริเวณโดยรอบเป็นป่าโปร่ง มีน้ำมากเฉพาะในช่วงฤดูฝน  การเดินทาง  ใช้เส้นทางเดียวกับอ่างเก็บน้ำจักรพงษ์ แต่อยู่เลยไปอีกประมาณ ๔๐๐ เมตร  

 
น้ำตกธารรัตนา

                  ตั้งอยู่ที่ตำบลเนินหอม ระยะทางประมาณ ๑๐๐ เมตร จากถนนสายเนินหอม-เขาใหญ่ ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองปราจีนบุรีประมาณ ๒๕ กิโลเมตร มีสภาพเป็นแก่งน้ำไหลตามหุบเขาในเทือกเขาใหญ่มีน้ำมากในช่วงฤดูฝน  

 
อำเภอบ้านสร้าง  

                  ค้างคาวแม่ไก่วัดบางกระเบา   วัดบางกระเบาอยู่บนถนนสายบ้านสร้าง-บางแตน ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านสร้างประมาณ ๖ กิโลเมตร เป็นวัดของพระเกจิอาจารย์ชื่อเสียงโด่งดังคือ หลวงพ่อจาด ภายในบริเวณวัดบางกระเบา จะมีค้างคาวแม่ไก่จำนวนนับพันตัวอาศัยอยู่ตามต้นไม้  

 
อำเภอศรีมโหสถ  

                  ต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ  อยู่ในเขตวัดต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ ตำบลโคกปีบภายในวัดมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย สันนิษฐานว่าเป็นหน่อจากต้นพระศรีมหาโพธิ สถานที่ตรัสรู้จากพุทธคยา ประเทศอินเดีย มีอายุกว่า ๒,๐๐๐ ปี ซึ่งนำเข้ามาปลูกเป็นต้นแรก ลำต้นวัดโดยรอบประมาณ ๒๐ เมตร สูงประมาณ ๓๐ เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒๕ เมตร ตามตำนานกล่าวว่า พระเจ้าทวานัมปะยะดิษฐ์ เจ้าครองเมืองศรีมโหสถในสมัยขอมเรืองอำนาจทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนา จึงได้ส่งคณะฑูตเดินทางไปขอกิ่งต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าประทับเมื่อคราวตรัสรู้ จากเจ้าผู้ครองนครปาตุลีบุตร ประเทศอินเดีย แล้วนำกิ่งโพธิ์นั้นมาปลูกที่วัดต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดปราจีนบุรี ในวันวิสาขบูชาจะมีงานนมัสการต้นพระศรีมหาโพธิ์  

 
การเดินทาง

                  จากตัวเมืองปราจีนบุรีไปตามถนนสุวินทวงศ์ ใช้เส้นทางสายปราจีนบุรี-อำเภอพนมสารคาม  ทางหลวงหมายเลข ๓๑๙ ระยะทางประมาณ ๒๒ กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายเข้าไปอีกประมาณ ๑ กิโลเมตรก็จะถึงวัดแห่งนี้  

 

                  กลุ่มโบราณสถานสระมรกต  ตั้งอยู่ที่วัดสระมรกต ตำบลโคกไทย เป็นกลุ่มโบราณสถานทางพุทธศาสนาขนาดใหญ่ ที่สร้างซ้อนทับกันหลายสมัย เริ่มตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เป็นต้นมาจนถึงพุทธ ศตวรรษที่ ๑๘  ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างศิลาแลง และอิฐ ส่วนใหญ่คงเหลือเฉพาะรากฐานอาคารเท่านั้น ระหว่างการขุดแต่งได้ค้นพบรอยพระพุทธบาทคู่สลักอยู่บนศิลาแลง ที่ฝ่าพระบาทสลักรูปธรรมจักรนูนทั้งสองข้าง  และยังมีการสลักรูปกากบาท โดยที่ตรงกลางมีหลุมสำหรับใช้ปักเสา สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อปักฉัตรหรือร่ม รอยพระพุทธบาทคู่นี้คาดว่าสร้างขึ้นครั้งแรกสมัยทวารวดีถึงสมัยลพบุรี นับเป็นรอยพระพุทธบาทที่ใหญ่ และเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ใกล้กันมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งพบพระพุทธรูป และโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก  

 

                  นอกจากนั้นยังมี สระมรกต เป็นสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดกว้างประมาณ ๑๑๕ เมตร ยาว ๒๑๔ เมตร ลึก ๓.๕๐ เมตร มีพื้นที่ประมาณ ๒๕ ไร่ สันนิษฐานว่าขุดขึ้นมาเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำ และได้นำศิลาแลงไปใช้เป็นสถาปัตยกรรม  นอกจากสระมรกตแล้วยังมี สระบัวหล้า และ ศูนย์นิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับโบราณสถานเมืองศรีมโหสถ  การเดินทาง  จากตัวเมืองปราจีนบุรีไปตามถนนสุวินทวงศ์  ใช้เส้นทางหมายเลข ๓๑๙ สายปราจีนบุรี-อำเภอพนมมหาสารคาม ระยะทางประมาณ ๒๓ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ ๕๐๐ เมตร ก็จะถึงกลุ่มโบราณสถานแห่งนี้  

 

                  โบราณสถานเมืองศรีมโหสถ  ตั้งอยู่ที่บ้านโคกวัด ตำบลโคกปีบ เป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดีขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปไข่ หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน มีเนื้อที่ประมาณ ๗๐๐ ไร่ ลักษณะของเมืองมีคูเมือง และคันดินกำแพงเมืองล้อมรอบคูน้ำ ภายในเมืองมีโบราณสถาน เนินดิน สระน้ำ บ่อน้ำ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปกว่า ๑๐๐ แห่ง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยทวารวดี หลักฐานส่วนใหญ่ที่พบมักจะเกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดู เช่น เทวาลัย เทวรูป ศิวลึงค์ โบราณสถานที่สำคัญในเมืองศรีมโหสถประกอบด้วย กลุ่มโบราณสถานกลางเมือง อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นหมู่เทวาลัย ฐานก่อด้วยศิลาแลง ด้านบนก่อด้วยอิฐ ด้านหลังมีบ่อน้ำก่อด้วยศิลาแลง โบราณวัตถุที่ขุดพบ ได้แก่ เทวรูปต่าง ๆ และเศษเครื่องปั้นดินเผา สมัยลพบุรี สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ภูเขาทอง เป็นเจดีย์รูปกลม ลักษณะเหมือนโอคว่ำ สมัยทวารวดี โบราณสถานหมายเลขที่ ๒๕  เป็นเทวาลัย รากฐานอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลง อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ โบราณสถานสระแก้ว เป็นโบราณสถานที่เป็นสระน้ำโบราณ สระน้ำที่ขุดลงไปในชั้นของศิลาแลงธรรมชาติ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้นอกเมืองศรีมโหสถ    ตัวสระเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีทางลงทำเป็นขั้นบันได ผนังขอบสระทุกด้านมีการแกะสลักภาพนูนต่ำเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น รูปช้าง สิงห์ หมู กินรี งูพันเสา สัตว์เหล่านี้เป็นสัตว์ชั้นสูง  สันนิษฐานว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ประกอบพิธีทางศาสนา อายุราวพุทธศตวรรษ ที่ ๖-๑๑  การเดินทาง  จากตัวเมืองปราจีนบุรี ไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๑๙ ระยะทางประมาณ ๒๐ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๐๗๐ อีกประมาณ ๑ กิโลเมตร เมืองโบราณจะอยู่ทางด้านขวามือ  

 
อำเภอศรีมหาโพธิ์  

                  อนุสาวรีย์ลายฝีพระหัตถ์  ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองโพรง อนุสาวรีย์ลายฝีพระหัตถ์นี้เป็นลายพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้เสด็จประพาสปราจีนบุรี เมื่อปี พ.. ๒๔๕๑ ทรงจารึกไว้บนแผ่น ศิลาแลง ซึ่งเป็นซากโบราณวัตถุสมัยลพบุรี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓  การเดินทาง  อนุสาวรีย์อยู่เลยจากที่ว่าการอำเภอศรีมหาโพธิไปทางบ้านโคกขวาง ประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร โดยอยู่เยื้องทางเข้าหลุมเมือง

                  หลุมเมือง  มีลักษณะเป็นหลุมขนาดต่าง ๆ ขุดเจาะลึกลงไปในพื้นศิลาแลง ไม่ทราบว่าขุดขึ้นในสมัยใด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.. ๒๔๕๑  มีพระราชสันนิษฐาน

ว่า “เป็นหลุมสำหรับโขลกปูนที่จะปั้นลวดลายเครื่องประดับปรางค์ปราสาท” มีหลุมทั้งหมดประมาณ ๔๘ หลุม แต่คำบอกเล่าของคนรุ่นเก่ากล่าวว่าเป็นหลุมสำหรับเล่นกีฬาพื้นบ้าน เรียกว่า การเล่นหลุมเมือง    

 

                  เทวสถานพานหิน  ตั้งอยู่ที่บ้านโคกขวาง ตำบลหนองโพรง เป็นโบราณสถาน ที่ก่อด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่ กว้างด้านละ ๑๖ เมตร สูง ๓.๕ เมตร มีมุขยืนออกไปทั้งสี่ด้าน สันนิษฐานว่าประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์ มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๑ แห่งเจนละ ตรงกลางของซากเทวาลัยมีฐานของเทวรูปซึ่งแต่เดิมตะแคงอยู่ลักษณะคล้ายพาน จึงเรียกว่า “พานหิน”  นอกจากนี้ยังพบศิลาแลงทรงกลม สกัดเป็นรูปฐานเชิง การเดินทาง  เทวสถานพานหินอยู่เลยจากที่ว่าการอำเภอศรีมหาโพธิไปทางบ้านโคกขวางประมาณ ๒ กิโลเมตร แล้วแยกขวาไปอีกประมาณ ๑ กิโลเมตร  

 
อำเภอประจันตคาม  

                  น้ำตกธารทิพย์  ตั้งอยู่ที่บ้านเนินหินตั้ง ตำบลหนองแก้ว เป็นธารน้ำที่ไหลผ่านชั้นหินต่างระดับ บางช่วงไหลผ่านลานหินบริเวณกว้าง บางช่วงเป็นแอ่งน้ำลึก สามารถลงเล่นน้ำได้ มีลานหินสำหรับนั่งพักผ่อน  ฝั่งซ้ายของลำธารลักษณะค่อนข้างสูงชัน สภาพโดยทั่วไปยังเป็นป่าที่คงความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ บรรยากาศร่มรื่น เหมาะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจเป็นอย่างดี การเดินทาง  ใช้เส้นทางเดียวกันกับน้ำตกตะคร้อ จะมีทางแยกซ้ายมือ ตรงบริเวณกิโลเมตรที่ ๙ และเข้าไปอีกประมาณ ๙ กิโลเมตร  

 

                  น้ำตกส้มป่อย  ตั้งอยู่ที่บ้านเขาน้อย ตำบลบุฝ้าย เป็นน้ำตกที่ไม่สูงมากนัก ไหลลดหลั่นผ่านแก่งหิน เป็นระยะทางยาวประมาณ ๔๐๐ เมตร มีแอ่งน้ำที่ลงเล่นน้ำได้ตลอดลำธาร การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกันกับน้ำตกธารทิพย์ ก่อนถึงน้ำตกตะคร้อจะมีแยกซ้ายมือบริเวณกิโลเมตรที่ ๑๔ เข้าไปจนถึงตัวน้ำตกอีกประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร  

 

                  น้ำตกตะคร้อ และน้ำตกสลัดได  ตั้งอยู่ที่บ้านตะคร้อ ตำบลบุฝ้าย น้ำตกตะคร้อ  อยู่ห่างจากด่านตะคร้อ ประมาณ ๕๐๐ เมตร เป็นน้ำตกที่มีลักษณะเป็นแก่งน้ำกว้าง มีสะพานแขวนทอดข้ามน้ำตกตะคร้อ  ฝั่งซ้ายของลำธารเป็นเนินเขา ส่วนทางด้านฝั่งขวาเป็นป่าโปร่ง เหมาะแก่การพักผ่อน จากน้ำตกตะคร้อมีทางเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ ๒ กิโลเมตร จะถึง น้ำตกสลัดได เป็นน้ำตกที่มีความสวยงาม หากจะเดินทางเข้าไปชมน้ำตกสลัดไดควรติดต่อขอเจ้าหน้าที่นำทางจาก หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ๑๐ ที่ตั้งอยู่บริเวณน้ำตกตะคร้อ 

 
การเดินทาง 

                  จากตัวเมืองปราจีนบุรีไปตามทางถนนปราจีนบุรี-ประจันตคาม เส้นทางหลวงหมายเลข ๓๔๕๒ ระยะทางประมาณ ๑๖ กิโลเมตร ให้เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๓ จนถึงสี่แยกประจันตคาม แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนน รพช. หรือจะใช้เส้นทางสี่แยกเนินหอมแล้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๓ จนถึงสี่แยกประจันตคาม ให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนน    รพช. ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร และเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ ๕๐๐ เมตร จนถึงตัวน้ำตกตะคร้อ     

 
อำเภอกบินทร์บุรี

                  นกเป็ดน้ำหนองปลาแขยง  อยู่ริมทางหลวงหมายเลข ๓๓ ระหว่างช่วงอำเภอประจันตคาม-กบินทร์บุรี บริเวณกิโลเมตรที่ ๒๐๖-๒๐๗ ทางซ้ายมือจะมีหนองน้ำขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ ๔๐๐ ไร่ ในระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี จะมีนกเป็ดน้ำมาอาศัยเป็นจำนวนมากนับพันตัว  

 
 

 

เวลา..วันที่..ขณะนี้...

 

 

Created on..............: Sat, Jul 13, 2002

ปรับปรุงแก้ไขข้อมูลครั้งหลังสุด  25/10/2562 08:59:02

ติดต่อผู้ดูแล web:  webmaster@luangpochom.com

luangpochom