โลกุตรธรรม 

 

              ตัวตนเราที่เป็นสิ่งไม่ตายนั้นเป็นรูปนามคือลม  ลมคือธรรม  ธรรมคืออสังขตะธรรม  ธรรมนี้ไม่มีวัฏฏะภพทั้งสาม  ธรรมนี้ไม่มีตัณหาอาสวะ  ธรรมนี้ไม่มีสังขารร่างกายแต่อย่างใด  ถึงได้ชื่อว่าอสังขตะธรรมเป็นธรรมของพระนิพพาน  ธรรมเหล่านี้จะรู้ได้จำเพาะตนผู้ปฏิบัติผู้เข้าถึงแล้วเท่านั้น  จะไปพูดให้สัตว์มนุษย์ทั้งโลกจักรวาลนี้ให้รู้ในธรรมนี้เป็นไปไม่ได้  เพราะหมู่ท่านเหล่านั้นมีวิจิกิจฉาอยู่จะไปรู้ในธรรมเหล่านี้ไม่ได้  มีจะนึกเดาเอาคาดคะเนเอาไปตามอาการนั้นๆ  โดยมิรู้ซึ่งแห่งธรรมว่าอะไรเป็นอะไร  แต่ว่าพระนิพพานท่านนี้ก็ยังไม่รู้อยู่แล้ว  จะไปพูดธรรมในทางพระนิพพานนั้นจะไปรู้ได้อย่างไรกันเล่า  เพราะเป็นธรรมที่ไม่มีตัณหาอาสวะแต่อย่างใด  ผู้มีกิเลสตัณหาอาสวะอยู่จะหาว่ารู้นั้นเป็นไปไม่ได้นะท่าน  เพราะสัตว์มนุษย์คนเรามีตัณหาอาสวะเป็นเครื่องคุมขังอยู่ด้วยความมืดอยู่แล้ว  อย่าไปถือว่าตนเป็นผู้รู้หรือว่าตนเป็นผู้เรียนรู้ไปถือโดยอ้างตำราคัมภีร์นั้นๆ  ให้รู้ว่าตำราคัมภีร์ธรรมนั้นมาจากที่ใดมาจากที่ไหนมาเป็นตำรับตำราจารึกไว้ในที่นั้น  โดยมากผู้โง่เขลาให้ถือว่าตำรับตำราใบลานว่าเป็นพระธรรมพระวินัย  โดยไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรกันบ้าง  ผู้ปฏิบัติทั้งหลายเธออย่าเชื่อแต่สมาธิกรรมฐานสมถะวิปัสสนา  ว่าเป็นอย่างนั้นว่าเป็นอย่างนี้  ต้องทำอย่างนั้นต้องทำอย่างนี้โดยงมๆ งายๆ  ให้หมู่ท่านรู้ว่าอะไรเป็นอะไรเสียก่อนโดยสติปัญญา  ทางปฏิบัติสติปัญญาให้รู้ในการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานวิปัสสนานี้  ก็เพื่อน้อมจิตใจตนให้เข้าสู่พระรัตนตรัยคือ  พระพุทธ-พระธรรม-พระอริยสงฆ์  ให้เป็นที่พึ่งที่อาศัยอย่างเดียวหนึ่งไม่มีสองให้ได้อย่างแท้จริง  เราจะได้อาศัยความสว่างของพระรัตนตรัยนั้นแหละ  เปิดประตูหน้าต่างที่คุมขังของตัณหาอาสวะออกดูทางพระนิพพานว่าไปทางไหน  ทางสายไหนเราก็จะรู้ดูชั่วคราวเป็นพักๆ  เราก็จะรู้ความจริงว่าอะไรเป็นอะไรได้ในความสว่าง  ประตูหน้าต่างของตัณหาอาสวะที่เปิดออกให้ดูนั้นเอง  สิ่งอันใดต้องมีเหตุถึงมีผล

 

               เหตุให้เห็นของสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เป็นพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นั้นก็คือ  เห็นความเกิดเป็นทุกข์  เห็นความแก่เป็นทุกข์  เห็นความเจ็บเป็นทุกข์  เห็นความตายเป็นทุกข์นั้นเอง  ผู้ปฏิบัติในพุทธศาสนานี้อย่าลืมหลักนี้เป็นอันขาด  ให้พิจารณานึกถึงความตายที่จะมาถึงตนเป็นเนืองนิตย์  ให้ดูลมหายใจเข้า-ออกของตนนั้น  ลมเป็นสิ่งไม่ตาย  พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า  ผู้ปฏิบัติทางตรงตามวิปัสสนาญาณ  ในทางพิจารณาพระไตรลักษณ์นี้  เป็นทางตรงเข้าสู่พระนิพานโดยจำเพาะ  ขั้นแรกให้ตั้งสติความน้อมนึกได้  สัมปชัญญะให้มีความรู้ตัวอยู่เสมอๆ  อย่าให้ขาดให้นึกถึงพุทธานุสติ  ธรรมานุสติ  สังฆานุสติ  มรณะนุสติ  อานาปานุสติ  ให้ยึดพระนิพพานเป็นอารมณ์  หลักนี้เป็นพุทธบัญญัติฯ

 
ข้อ 1  พุทธานุสตินี้ 
ให้ผู้ปฏิบัติให้มีสติอยู่ในพุทธาคุณอยู่เสมอๆ ไป
ข้อ 2  ธรรมมานุสติ
ให้ผู้ปฏิบัติให้มีสติอยู่ในธรรมคุณอยู่เสมอๆ ไป
ข้อ 3  สังฆานุสติ 
ให้ผู้ปฏิบัติให้มีสติอยู่ในสังฆคุณอยู่เสมอๆ ไป
ข้อ 4  มรณะนุสติ 
ให้ผู้ปฏิบัติให้มีสตินึกถึงความตายที่จะมาถึงตน
ข้อ 5  อานาปานุสติ 
ให้ผู้ปฏิบัติให้มีสติดูลมหายใจเข้า-ออกของตนนั้น
 

               ห้าข้อนี้เป็นหลักปฏิบัติ  ให้พิจารณาอยู่ให้เป็นเนืองนิตย์ ยืน-เดิน-นั่ง-นอน  ให้มีสติยึดนิพพานเป็นอารมณ์  นิพพานนั้นให้มีสติจิตใจผู้ปฏิบัติไม่ให้เปลี่ยนแปลงให้เดินทางเดียว  เพราะพระนิพพานนั้นเป็นธรรมอันไม่ตายที่จะเข้าสู่นิพพานได้  เพราะธรรมอันไม่ตายนั้นเป็นตัวท่านทุกคนไป  ทางปฏิบัตินักบวชทั้งหลายจุดมุ่งหมายก็เพื่อให้ผู้ปฏิบัติทั้งหลายให้รู้ธรรมอันไม่ตาย  ที่มีอยู่ในร่างสังขารท่านชาย-หญิงนั้นเอง  ถ้าท่านเหล่าใดไม่รู้ธรรมอันไม่ตายแล้วจะไปรู้พระนิพพานได้อย่างไร  มนุษย์และสัตว์ท่องเที่ยวจุติ-ปฏิสนธิวนอยู่ในภพทั้งสามนี้ก็คือ  ลมหายใจเข้า-ออกนั้นเอง  ผู้ปฏิบัติทั้งหลายอย่าไปหลงดูสิ่งนอกกาย  ให้ท่านพิจารณาดูสิ่งในกายที่เป็นสิ่งไม่ตายนั้น  เราถึงจะรู้ภพภูมิต่างๆ ได้  ให้ดูในกายของเราก็คือ  ดูลมหายใจเข้า-ออกของเราทุกๆ คน  ที่ในความเป็นอยู่ทุกๆ วันนี้ก็อยู่ได้ด้วยเพราะลมหายใจนั้นแหละ  เพราะลมหายใจเป็นธรรมอันไม่ตาย  เราก็จะรู้กายเวทนาจิตธรรมได้ว่ามันเป็นอย่างไร  เป็นรูปนามหรือไม่เราจะได้พิจารณาว่ารูปนามนั้นๆ มันเที่ยงหรือไม่เที่ยง  เราจะรู้ได้ก็เพราะลมยังอยู่ที่จมูกเรานั้นเอง  ถ้าลมไม่อยู่ในจมูกท่านเหล่าใดแล้วไม่มีทางที่จะรู้ได้  เพราะลมหายใจเป็นธรรมอันไม่ตาย  คือตัวท่านชาย-หญิงนั้นเอง  เพราะลมหายใจนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นคัมภีร์ที่เจ็ดมหาสติปัฏฐานสี่  จิต-เจตสิก-รูป-นิพพานรวมอยู่ด้วย  ถ้าผู้ปฏิบัติไปละทิ้งธรรมอันไม่ตายแล้ว  จะเป็นสิ่งรู้ได้อย่างไรเพราะตัวเราเป็นธรรมอันไม่ตาย  วนเวียนอยู่ในภพทั้งสามนี้เป็นกัปๆ แล้วเพราะกาย  กายให้เกิดอารมณ์ต่างๆ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า  กายนอก-กายใน-กายในกาย  เวทนานอก-เวทนาใน-เวทนาในเวทนา  จิตนอก-จิตใน-จิตในจิต  ธรรมนอก-ธรรมใน-ธรรมในธรรม  สี่อย่างนี้ให้เกิดอารมณ์พร้อมๆ กัน  กายนอกให้เกิดอารมณ์เห็นภายนอก  เวทนานอกก็ตามไปในสิ่งภายนอก  จิตนอกก็ให้เกิดรู้สึกในสิ่งภายนอก  ธรรมนอกก็เกิดปรุงขึ้นอยากได้ในสิ่งนั้นๆ ก็รวมอยู่ในเวทนานั้นเอง  กายในก็เกิดรู้อารมณ์รู้สึกในตนของตน  เวทนาในก็เกิดอารมณ์ดีหรือชั่ว  จิตในก็เกิดอารมณ์ยึดในสิ่งนั้นๆ  ธรรมในก็ปรุงขึ้นในสิ่งภายในก็ไปรวมอยู่ในเวทนาในนั้นเอง  ดี-ชั่วก็ไปอยู่กับเวทนาในทั้งหมด  ภายในกายก็เป็นอารมณ์ในกายของเขาเอง  เวทนาในเวทนาก็เป็นอารมณ์ของอารมณ์เวทนาในเวทนาเอง  จิตในจิตก็เป็นอารมณ์รู้สึกอยู่ในของจิตในจิตนั้นเอง  ธรรมในธรรมก็คือ  ความปรุงขึ้นตามธรรมในธรรมก็รวมอยู่ในเวทนาในเวทนานั้นเอง  พระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสไว้ว่า  รูปธรรมนามธรรม  นามธรรมทั้งหลายเหล่านี้ไม่เที่ยง  นามธรรมทั้งหลายเหล่านี้ก็ไม่เที่ยง  ผู้ปฏิบัติทั้งหลายชาย-หญิงก็ดีธรรมเหล่าใดไม่เที่ยง  ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมประกอบทุกข์อยู่  ผู้ปฏิบัติให้ละเว้นปราศจากเสียในธรรมเหล่านั้นอย่าเอามาเป็นอารมณ์  มันมีอยู่ในตนของท่านชาย-หญิงอยู่แล้ว  ให้ละเว้นออกไปเสียให้พ้นมิใช่อยู่ในตำรับตำราใบลานกระดาษที่ไหนนะท่าน  ท่านอย่าไปหลงว่าธรรมเหล่านี้อยู่ในตำรับตำรานะท่าน  ท่านเขียนไว้สำหรับผู้ที่โง่เขลาเท่านั้นได้อ่านดู  และให้พิจารณาจะได้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรกันบ้างเท่านั้น  ผู้มีสติปัญญาให้พิจารณาด้วยตนเอง  สิ่งอันใดไม่เที่ยงธรรมเหล่าใดไม่เที่ยง  ให้ละเว้นออกไปอย่าเอามาเป็นอารมณ์นึกคิด  อย่าไปเดินตามธรรมเหล่านั้นเพราะธรรมเหล่านั้นเกิดดับๆ อยู่  เพราะธรรมไม่เที่ยงนั้นเองเราละเว้นเสียให้คงเหลืออยู่แต่ลมหายใจเข้า-ออก  คือตนเป็นสิ่งไม่ตายเราจะรู้ซึ้งโลกซึ้งธรรมได้ก็คือตัวเรา  ลมหายใจเข้า-ออกนั้นเอง  พระพุทธเจ้าตรัสเป็นธรรมไว้ว่า "อัตตาหิ  อัตตาโนนาโถ  ตนของตนเป็นที่พึ่งของตนแล" อัตตาหิแปลว่าเต็มไปด้วย  อัตตาโนนาโถแปลว่าเต็มไปด้วยความพร้อมเพรียงด้วยลมหายใจเข้า-ออก  ถึงเป็นตนของตนเป็นที่พึ่งของคนแลดังนี้

 

               ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย  สิ่งไม่เที่ยงทั้งหลายตายแตกดับสูญไปทั้งหมดเหลืออยู่แต่ตนของท่านคือ  ลมหายใจเข้า-ออกเป็นสิ่งไม่ตาย  ถึงเรียกว่า  อัตตาหิ  อัตตาโนนาโถ  ตนของตนเป็นที่พึ่งของตนแล  อัตตาโนนาโถ โนแปลว่าใจ อัตตาแปลว่าเต็มไปพร้อมด้วยลมหายใจเข้า-ออก   นาโถแปลว่าพัฒนาไปได้ทุกอย่าง  สิ่งอันใดในโลกนี้จะยิ่งกว่าใจไปนั้นย่อมไม่มี  ผู้ปฏิบัติทั้งหลายชาย-หญิงเราจะพิจารณาเอาอะไรมาเป็นที่พึ่งทางใจของเรา  อันเป็นสิ่งไม่เปลี่ยนแปลงเป็นทางที่แน่นอนมันคืออะไร  ข้อนี้เป็นปัญหาของเราทุกๆ คนไปให้ตั้งไว้ในใจเราเสียก่อน  ถ้าเราไม่มีปัญหาตั้งไว้ในใจเรา  ก็จะไม่รู้ว่าจะพิจารณาแก้ทุกข์แก้สุขให้ปราศจากออกจากกองทุกข์ได้อย่างไร  เราก็จะหลงอยู่ในกองทุกข์อยู่เสมอๆ ไปเท่านั้น  เพราะไม่รู้ปัญญาสิ่งอันใดในโลกนี้ก็มีปัญหาด้วยกันทั้งนั้น  ปัญหาใหญ่ในโลกมนุษย์และสัตว์ก็คือสังขารร่างกายของชาย-หญิงนี้เอง  เราอย่าไปถือว่าได้เกิดมาแล้วจะทำอย่างไร  เราก็ต้องต่อสู้ไปตามกรรมตามเวรไป  พูดเช่นนี้นึกคิดเช่นนี้เหมือนผู้จมน้ำจะหาทางขึ้นฝั่งมิได้เลย  เราให้พิจารณาดูว่าทุกข์อะไรในโลกนี้  จะยิ่งกว่าร่างกายสังขารของมนุษย์และสัตว์ย่อมไม่มี  สังขารวัตถุนานาประการในโลกจักรวาลนี้เป็นของไม่เที่ยง  แก้วแหวนเงินทองเพชรพลอยนานาชนิด  ยศถาบรรดาศักดิ์ชื่อเสียงทั้งหลายเหล่านี้  ล้วนแต่เป็นรูปธรรมนามธรรมด้วยกันทั้งนั้น  รูปธรรมนามธรรมทั้งหลายเหล่านี้ไม่เที่ยง  สิ่งไหนไม่เที่ยงสิ่งนั้นประกอบทุกข์อยู่นะท่านชายหญิง  เพราะมันเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติก็มี  เปลี่ยนแปลงไปตามบุคคลบัญญัติก็มี  ท่านกล่าวไว้ว่าสิ่งเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งไม่เที่ยง  สิ้นสูญดับไปตามธรรมชาติธรรมดาของเขาเอง  พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าพระรัตนตรัยคือโมกขธรรมเก้า  เป็นทางออกของพระอรหันต์  เป็นวิปัสสนาญาณเก้า  เป็นทางโลกุตรธรรมโดยจำเพาะ  เป็นทางสายเดียวหนึ่งไม่มีสอง  มิได้พิจารณาในรูปนามและรูปธรรมนามธรรมแต่อย่างใด  นักบวชชาย-หญิงที่มีจิตเลื่อมใสในพุทธศาสนาสัมมาสัมพุทธเจ้า  รู้ในทางโอวาทคำสอนของนักบวชว่าเป็นโลกุตรธรรม  รู้ว่าทางนักบวชนี้หนึ่งไม่มีสอง  ก็ยกจิตตนขึ้นสู่พระไตรรัตน์รู้ว่าทางสายนี้เป็นทางพระนิพพานพ้นทุกข์ได้จริง  ความรู้ซึ้งนี้ท่านว่าวิปัสสนาญาณเก้า  ความรู้ว่าถูกต้องแล้วนั้นแหละเรียกว่าญาณไม่ต้องสงสัยดอกท่าน  ต่อไปก็เกิดปัญญาญาณความรู้แจ้งแห่งปัญญาความหยั่งรู้เท่าทันสังขารตนและผู้อื่นได้ว่า  สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง  สังขารทั้งหลายนี้ให้เกิดความเป็นทุกข์  สังขารทั้งหลายเหล่านี้ตายแตกดับพลัดพรากจากกันไปด้วยความไม่เที่ยง  ด้วยความทุกข์ด้วยความดับไป  ผู้ปฏิบัติรู้แจ้งด้วยปัญญานั้นเองก็จะปล่อยวางสังขารตนและผู้อื่นเสียได้  จิตทั้งหลายก็จะสงบได้ฯ

               ก็ยังมีอยู่อีกคือ จิต-เจตสิก-รูปนิพพาน ให้ผู้ปฏิบัติชาย-หญิงใช้ปัญญาญาณความรู้แจ้งที่บังเกิดมีขึ้นในตนนั้นพิจารณาต่อๆ ไป ในเจตสิกรูปนิพพานต่อไปว่าอะไรเป็นอะไร จะรู้ได้ในปัญญาตนนั้นเองเพราะจิตแต่ละท่านเป็นไฟอยู่แล้ว สว่างยิ่งกว่าแสงพระอาทิตย์ที่ส่องโลกเราอยู่ทุกวันนี้ให้รู้กันบ้าง อย่าไปยึดเอาในความมืดอวิชชาอันเป็นสิ่งจำได้หมายรู้อุปาทาน ว่าเรารู้หลงอยู่ในความนึกเดาเอา หลงไปคาดคะเนเอาว่าคงจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ให้รู้เสียว่าจิตเรานี้ท่านเป็นไฟสว่างยิ่งกว่าแสงพระอาทิตย์เรารู้แล้วเราเห็นแล้ว เราจะได้ปล่อยวางสัญญาอุปาทานเสียได้ ก็เพราะจิตปัญญาของตนมีแสงสว่างตนของตนเป็นที่พึ่งของตนที่มีอยู่แล้วสามารถเข้าสู่นิพพานได้จำเพาะตนเอง เจตสิกเป็นสื่อของจิตกระทำให้จิตมืดเกิดดับ ๆอยู่ให้รู้ด้วยตนเอง ด้วยไฟสว่างของจิตด้วยปัญญาแสงสว่าง รู้เท่าเจตสิกว่าเป็นสื่อสัมพันธ์กันให้ก่อเกิดตัณหาตามหลักธรรมว่า (สัมประยุตตา) ก็คือ ตาเห็นรูปหูได้ยินเสียง จมูกถูกกลิ่นลิ้นลิ้มรส กายรู้ถูกต้องใจรู้เกิดนึกคิด ให้เกิดตัณหาอุปาทานอาสวะไม่มีที่จะสิ้นสุดไปได้แต่อย่างไร นี้แหละผู้ปฏิบัติทั้งหลาย-ชายหญิงอย่าไปหลงเล่าเรียนเรื่องเจตสิกว่าเรารู้เอามาเป็นธรรมมัจฉาสู่กันฟังเล่นๆ ไปเป็นผู้หลงอยู่ในสิ่งที่ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่าเป็นผู้หลงตายแล้วไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้อยู่ในตำนานไม่รู้ว่าค้านทางเดินของตนเอง จิตเจตสิกมีอยู่ทุกตัวคนไป ท่านให้ละเจตสิกนั้นเสีย ให้เหลืออยู่แต่ไฟของจิตด้วยความสว่าง ปัญญาเป็นรูปนิพพาน ก็จบสิ้นลงถึงที่สุด เอวังโหตุ.

            หลวงพ่อชม  อนํคโณ  (พระครูสังฆรักษ์)

ผู้จำแนกธรรมถวายไว้ในพระพุทธศาสนาสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สืบๆ ถาวรต่อไป.

            พุทธัง  สะระณัง  คัจฉามิ

            ธัมมัง  สะระณัง  คัจฉามิ

            สังฆัง  สะระณัง  คัจฉามิ

            พุทธะ  มะอะอุ  นะโม  พุทธายะ  (ตรงนี้ให้ว่า  7  จบดีนักแล)

        ให้ภาวนาไหว้พระทุกเช้าเย็นจะมีผลอยู่ในปัจจุบันและอนาคต  แผ่เมตตาข่มอำนาจโทสะของตนเองได้ผลดีมาก  อาตมาได้ใช้มาแล้วคำแผ่เมตตาว่าให้ว่าดังนี้คือ  "ท่านทั้งหลายจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด" ให้ภาวนาเมื่อโทสะเกิดขึ้นแก่เราก็จะดับไป.

 

เวลา..วันที่..ขณะนี้...

 

 

Created on..............: Sat, Jul 13, 2002

ปรับปรุงแก้ไขข้อมูลครั้งหลังสุด  23/10/2562 10:26:35

ติดต่อผู้ดูแล web:  webmaster@luangpochom.com

luangpochom