จัดงานถือบวชชีพราหมณ์

 

              อยู่ต่อมาถึงเดือนกุมภาพันธ์  พ.ศ. 2517  การก่อสร้างพระเจดีย์ก็สำเร็จลงเรียบร้อย  อีกสองเดือนต่อมาคือถึงเดือน 4 (เดือนมีนาคม) ปีนั้นตรงกับวันขึ้น 9 ค่ำ  ก็จัดงานประจำปีเป็นงานถือบวชชีพราหมณี-พราหมโณ  มีกำหนด 7 วัน 7 คืน  ตามอุปนิสัยของนักบวชในทางพระพุทธศาสนาสัมมาสัมพุทธเจ้า  ที่ได้สร้างบุญบารมีมาด้วยเนกขัมมะบารมี  เป็นสายทางรักษากาย-วาจา-ใจ  ของตนแต่ละท่านเพื่อให้รู้แจ้งมรรคผลนิพพานที่ปราศจากอามิสทั้งปวงให้ไกลจากจิตใจของตน  ให้รู้แจ้งในทางหนึ่งไม่มีสองเรียกว่า “พรหมจรรย์“ ให้รู้แจ้งในทางพรหมจรรย์ของตนด้วยว่า “เป็นทุกข์หรือเป็นสุข“ ให้รู้แจ้งในทางทุกข์ในสิ่งที่เกิดทุกข์ด้วย  ทุกข์นั้นมาจากที่ไหน  สิ่งอันใดเป็นสิ่งประกอบทุกข์ให้รู้ด้วย  รู้ในทางอันเป็นสิ่งประกอบทุกข์แล้ว  ให้ปล่อยวางเสีย  ในเวลาเราถือบวชชีพราหมณ์แห่งพรหมจรรย์ตามกำหนดเวลาของเรา  เพื่อกระทำจิตใจของเราเพื่อรักษากาย-วาจา-ใจของเรา  เพื่อให้เกิดบุญเกิดกุศลบารมีของเราในการถือบวชเ พื่อให้เกิดมรรคผลเข้าสู่ความสุขต่อๆ ไปในทางศรัทธาบารมี,  ศีลบารมี,  เนกขัมมะบารมี,  ขันติบารมี,  ปัญญาบารมี,  วิริยะบารมีฯลฯ ต่อๆ ไปเป็นสายทางสร้างบุญบารมีเพื่อเข้าสู่มรรคผลนิพพานต่อๆ ไปฯ

 

              นิพพานแปลว่า “สุขที่ปราศจากอามิสทั้งปวง” มีแต่สุขอย่างเดียวเรียกว่านิพพาน  เพราะเราอาศัยอามิสกันอยู่ว่าเราว่าเขาถึงได้มีแต่ความอยาก  ความหึงหวง  ความกลัวสามอย่างนี้ปิดความสุขในจิตใจของตนไปทั้งหมด  อามิสทั้งปวงนี้ล้วนแต่จะได้พลัดพรากจากกันไปในท้ายที่สุด  ถึงเวลาพลัดพรากไปแล้วก็จะเกิดความโทมนัสโศกเศร้าเสียใจรำพึงรำพันอาลัยไปต่างๆ โดยไร้เหตุและผลด้วยตนเอง  เพราะตนไปหลงใหลไปตามกายเวทนา  หลงตามธรรมกายว่าเป็นตัวตนบุคคลเราเขาว่าเป็นรูปเป็นนามกายทิพย์กายแก้ว  ว่าเป็นกายวิเศษอันยิ่งแต่มิได้รู้ซึ้งถึงกายเวทนา  เพราะถ้ามีกายอันใดใดก็ตามต้องมีเวทนา  ถ้ามีจิตต้องมีธรรมอยู่ในสภาวะของธรรม  ถ้ามีจิตก็มีสภาวะจิตมีอยู่ในจิตนั้นๆ เอง  ทางพุทธบัญญัติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตัดทางไว้ว่า  ดูก่อนภิกษุสามเณรชีพราหมณ์อุบาสกอุบาสิกา  หมู่ท่านรู้ธรรมเหล่าใดว่าเป็นธรรมเป็นทางปฏิบัติของพระพุทธเจ้า  ธรรมของพระพุทธเจ้านั้นขอให้หมู่ท่านพิจารณากายอยู่เป็นเนืองๆ ให้พิจารณาเวทนาอยู่เป็นเนืองๆ  กายนี้เธอให้รู้สึกว่าแต่กายนี้มิใช่ตัวตนบุคคลเราเขาแต่อย่างใด  เธออย่าไปเห็นผิดหลงผิดว่ากายธรรมเหล่านี้ว่าเป็นตัวตนบุคคลเราเขา  เธออย่าไปสงสัยในเรื่องกายนี้ว่าเป็นตัวตนเราเขา  เพราะว่ากายนี้มีเวทนา  กายนี้ไม่เที่ยง  กายนี้เป็นทุกข์  กายนี้อันตรธานไปในท้ายที่สุดจะมีแต่ความโทมนัสโศกเศร้าโสกาอุปายาสรำพึงรำพันเท่านั้น  ให้เธอละสักกายะทิฐินั้นเสีย  อย่าถือว่าเป็นตัวตนบุคคลเราเขาแต่อย่างใด  กายนี้เป็นส่วนหนึ่งมีแต่จะแตกทำลายไปในท้ายที่สุด  จิตใจเราท่านเป็นลม  ไฟ  สิ่งนี้ไม่แตกไม่สลายไม่สูญแต่อย่างใด  ให้ละวิจิกิจฉาความสงสัยในเรื่องกายนี้ไม่มีแก่เราฯ

 

              ต่อไปให้พิจารณาละสีลัพพตปรามาสคือ “จำพวกถือศีลพรต“ ที่มีอยู่จำพวกหนึ่งถือไปตามลัทธิไสยศาสตร์  เป็นลัทธินักบวชชาย-หญิงจำพวกหนึ่ง  นุ่งห่มผ้ากาสาวพัตร์วิรัตถือศีลแสวงหา สิ่งศักดิ์สิทธิ์เรียกกลมนต์วิชาต่างๆ  บวงสรวงอาศัยวิญญาณต่างๆ เข้าจ้าวเข้าทรงเรียกชื่อเรียกเสียงเป็นมดเป็นหมอ  เอาศีลบังหน้าจะนุ่งขาวห่มขาวหรือเหลืองก็ตามแต่เป็นจำพวก ถืออยู่ในสีลัพพตปรามาสด้วยกันทั้งนั้น  แปลว่าเป็นผู้หลงผิดเห็นผิดไปติดอยู่ในสักกายะทิฐิ  ความเห็นว่ากายนี้เป็นตัวตนบุคคลเราเขาอยู่  เลยเป็นผู้ติดอยู่ในสีลัพพตปรามาสไป  ให้เราละเสียในธรรมเหล่านี้ที่เป็นศีลพรตเป็นศีลประจำโลกภพทั้งสามนี้  มิใช่เป็นศีลของพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบัญญัติขึ้นแต่อย่างใด  พระพุทธเจ้าท่านได้อบรมสั่งสอนให้รู้จักละสักกายะทิฐิ-วิจิกิจฉาและละสีลัพพตปรามาส ให้ออกไปจากจิตใจของตนๆ เสียแต่บัดนี้  ถ้าท่านชาย-หญิงละออกจากธรรมเหล่านี้ได้แล้ว  เรียกว่าจิตใจท่านเหล่านั้นเข้าสู่โสดาบันบุคคลแล้ว จะมาเวียนว่ายเกิดตายอยู่ในภพมนุษย์นี้อีกเพียง 7 ชาติเท่านั้นก็จะเข้าสู่พระนิพพานในชาติที่เจ็ดนั้นเอง  ตามพุทธบัญญัตินี้เป็นทางปฏิบัติในทางพุทธศาสนาสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นสายทาง ที่จะพิจารณาในทางสมาธิวิปัสสนาพิจารณาในอนาปานุสสติ  ให้ดูลมหายใจเข้า-ออกของตนอยู่เป็นเนืองๆ ให้นึกถึงความตายที่จะมาถึงกายที่อาศัยอยู่เป็นเนืองๆ  จนให้รู้แจ้งว่ากายนี้มิใช่เป็นตัวตนบุคคลเราเขาแต่อย่างใด  ลม-ไฟ-จิตใจที่ปฏิสนธิอยู่ในกายนี้เป็นเราเป็นเขารู้เป็นแน่นอน  เพราะว่าจิตเป็นไฟใจเป็นลม  จิตเป็นสิ่งไม่ตายลมหายใจเข้า-ออกเป็นธรรม  เป็นสิ่งไม่ตายเป็นแน่นอน  ก็ละสักกายะทิฐิได้เป็นแน่นอนตามพุทธบัญญัติว่าเป็นขั้นโสดาบัน  ละเว้นไปตามธรรมสามประการเป็นความแน่นอนไม่เปลี่ยนแปลงฯ

 

              ต่อไปก็ปฏิบัติเพื่อเข้าสู่พระสักกิทาคามี  ตั้งอยู่ในกรรมฐานห้าวิปัสสนาพิจารณาเกศา-โลมา-นขา-ฑันตา-ตะโจ  พิจารณาห้าอย่างนี้จนแยบคาย  คลายจากความกำหนัดให้ขาดจากกามตัณหาสาม-โลกธรรมแปดประการจากสันดานของตน  เพื่อเข้าถึงพระรัตนตรัยหนึ่งไม่มีสองต่อไป  การปฏิบัติจิตตนให้ขาดจากกิเลสกาม  ตัณหาสามต้องเดินตามศีล-สมาธิ-ปัญญา  เป็นทางที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วจำแนกทางโลกุตรธรรมไว้เป็นพุทธศาสนา เพื่อให้พระภิกษุ-สามเณร-ชี-พราหมณ์-อุบาสก-อุบาสิกา  บุรุษสี่เหล่านี้ให้เดินตามทางของพระพุทธองค์ไป  เป็นทางมรรคผลนิพพานโดยแท้จริงคือ  ให้วิปัสสนาพิจารณาในกรรมฐานห้าอานาปานุสสติ  ให้ยึดเอาพระพุทธ  พระธรรม  พระอริยสงฆ์  มาเป็นสรณะที่พึ่งที่อาศัยของจิตเรา  สิ่งอื่นจะยิ่งกว่าย่อมไม่มี  ทำจิตให้อยู่ในสติสัมปชัญญะ  ปัญญาให้รู้แจ้ง อยู่เสมอไป  ให้รู้ทุกข์  ให้รู้ในสิ่งที่เกิดเป็นทุกข์  ให้รู้ในสิ่งประกอบทุกข์ด้วย  ให้รู้ออกจากทุกข์  ให้รู้ปราศจากทุกข์  ให้รู้ดับทุกข์ด้วยฯ

 

              ต่อนี้เป็นทางปฏิบัติสายทางนิพพานหนึ่ง “นิพพานัง  ปรมัง  สูญญัง“ ที่ละความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  แล้วเหลือแต่เบญจขันธ์คือ  รูป 1 เวทนา 1 สัญญา 1 สังขาร 1 วิญญาณ 1 ห้าอย่างนี้เป็นเบญจขันธ์ให้พิจารณาให้ละความโลภความโกรธความหลง ออกจากสันดานจิตใจของตนต่อๆ ไป  ให้ใช้วิปัสสนาญาณในความหยั่งรู้ที่มีอยู่ในตนนั้นมาพิจารณาญาณให้แจ่มแจ้งด้วยสติญาณ  ด้วยสัมปชัญญะญาณ  ด้วยปัญญาญาณ  ทั้งสามนี้มีอยู่สามชั้น  ญาณแปลว่า “ความรู้แจ้ง“ นั้นเอง  ญาณชั้นที่หนึ่งคือความรู้ทางนอกทั่วๆ ไปนั่นเอง  ญาณชั้นที่สองเรียกว่าญาณใน  ญาณชั้นที่สามเรียกว่าญาณในญาณ  ให้พิจารณาในความรู้ของตนที่มีที่รู้นั้นให้สมบูรณ์  อย่าไปปฏิเสธเสีย  อย่าไปพูดไปคุยนอกเรื่องนอกราวเสีย  อย่าไปพูดไปคุยโดยโกรธเคืองคับแค้นใจเสีย  ให้ทำความรู้ของตนที่มีอยู่นั้นให้สมบูรณ์เพื่อสอนผู้อื่นต่อไป  ความรู้เหล่านี้เรียกว่าวิปัสสนาญาณเก้าเป็นหน้าที่รู้แจ้งเข้าสู่พระนิพพาน  คือ “นิพพานัง  ปรมัง  สุขขัง“ สุขอื่นใดยิ่งกว่าพระนิพพานย่อมไม่มี  เพราะเป็นธรรมละเว้นปราศจากส่งคืน  ไม่อาลัยในธรรมทั้งปวง

 

              การจัดงานถือบวช  ความหมายเพื่อภิกษุ-สามเณร-ชี-พราหมณ์-อุบาสก-อุบาสิกา  ออกบวชเพื่อสร้างบารมีบำเพ็ญสมณะธรรมในทางเนกขัมมะบารมีกันบ้าง  ให้รู้ทางศีล-สมาธิ-ปัญญา  อันเป็นทางตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ากันบ้าง  ให้รู้ในทางทาน-ศีล-ภาวนากันบ้าง  เพื่อให้รู้บุญรู้บาปว่ามีจริง  พร้อมทั้งธรรมทานอาตมาถึงได้จำแนกธรรมทางของพระพุทธเจ้าไว้ในที่นี้  เพราะว่าธรรมมีอยู่สองเหล่าสองทางด้วยกัน  ธรรมเหล่าหนึ่งที่มิใช่ธรรมมิใช่วินัยของพระพุทธเจ้าก็มี  ส่วนธรรมส่วนวินัยของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ดีแล้วก็มี  เพื่อมิให้ผู้ปฏิบัติชาย-หญิงหลงไปตามธรรมที่สะสมที่ติดอยู่ในกองทุกข์ไปหาว่าเป็นสุข  ธรรมที่เป็นทางของพระพุทธเจ้าโดยแท้  เป็นธรรมที่ปราศจากทุกข์ในกองตัณหา  เป็นธรรมปราศจากอามิสทั้งปวง  มีจิตว่าง-วางเฉย  เป็นมูลเลิกละจากอิฏฐีรมณ์-อนิฏฐีรมณ์รู้แจ้งในธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาญาณที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น  ให้ขันติความอดทน  ให้วิริยะความขยันหมั่นเพียรต่อๆ ไป  ให้ถึงท้ายที่สุดขั้นบรรลุดังนี้  เพื่อแนะแนวทางมรรคผลนิพพานให้แจ้ง  แก่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายให้รู้แจ้งถึงสุข  ให้ละออกจากทุกข์  ให้รู้เหตุแห่งทุกข์  ให้รู้ปราศจากทุกข์  ให้รู้ส่งคืนแห่งทุกข์  ให้รู้ปล่อยวางสิ่งเป็นทุกข์  อย่าไปอาลัยในสิ่งเหล่านั้น  ให้รู้จักปราศจากอามิสทั้งปวงด้วยจิตว่างวางเฉยคือ  ตาเห็นเราก็รู้  หูได้ยินเราก็รู้  อะไรๆ เราก็รู้ให้วางเฉยเสีย  ให้น้อมเอาจิตเราให้เข้าสู่สิ่งไม่มี  ที่ปราศจากทุกข์ทั้งปวง  ให้ทำจิตให้เบิกบาน  ให้สว่างให้แจ่มแจ้งให้จิตเข้าถึงพระพุทธ  พระธรรม  พระอริยสงฆ์  ขอให้รู้จักว่าพระพุทธ  พระธรรม  พระอริยสงฆ์มีพร้อมแล้วให้ยึดเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์คือ  สุขอย่างเดียวหนึ่งไม่มีสอง  สุขที่ปราศจากอามิสทั้งปวงเป็นสุขอย่างยิ่งสิ่งอื่นจะสุขยิ่งกว่าพระนิพพานย่อมไม่มี  นิพพานนั้นเกิดเป็นทุกข์ก็ไม่มี  แก่เป็นทุกข์ก็ไม่มี  เจ็บไข้เป็นทุกข์ก็ไม่มี  ตายเป็นทุกข์ก็ไม่มี  พระนิพพานพ้นจากทุกข์ทั้งปวงนะท่านชาย-หญิง  อย่าไปหลงเกิดหลงตายอยู่เป็นทุกข์อย่างยิ่ง  ที่ไม่เกิดไม่ตายก็คือลมหายใจเข้า-ออกไฟลมจิตใจนั้นเองฯ

 

              ผู้ปฏิบัติให้มีสติปัญญา  ให้รู้จักในธรรมโลกุตรธรรม  เป็นทางธรรมคำขาดไม่ติดต่อกับทุกข์สมุทัยแต่อย่างใด  นิโรธเป็นเครื่องดับทุกข์  นิโรธคือให้ปราศจาก 1 ให้ละเว้น 1 ให้ส่งคืน 1 ให้ตัดอาลัยในสิ่งเหล่านั้น 1 สี่อย่างนี้ก็เป็นคำขาดออกจากทุกข์สมุทัย  ที่เป็นเหตุแห่งทุกข์อยู่ให้ขาดออกจากกัน  ให้มีแต่สุขอย่างเดียวหนึ่งไม่มีสอง  ให้พิจารณาวิปัสสนาให้รู้ว่าธรรมเหล่านี้เป็นคำขาดจากโลกเป็นแน่นอน  เป็นสายทางสิ้นจากอาสวะเข้าสู่พระนิพพานต่อไป  สิ้นจากความเกิดเป็นทุกข์  สิ้นจากความแก่เป็นทุกข์  สิ้นจากความเจ็บเป็นทุกข์  สิ้นจากความตายเป็นทุกข์  ไม่มีแก่ท่านชาย-หญิงเหล่านั้นแต่อย่างใด  ถึงได้เรียกว่า “พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง“ ภพทั้งสามนี้จะสุขกว่าจะยิ่งกว่าย่อมไม่มี  สิ่งอันใดมีทุกข์อยู่  สิ่งอันนั้นไปนิพพานไม่ได้  ไปได้แต่สุขอย่างเดียว  สิ่งอันใดมีโรคมีภัยอยู่  ไปนิพพานมิได้  ให้ผู้ปฏิบัติพิจารณาละออกจากภัยนั้นๆ เสียให้สิ้นจากจิตใจของท่านชายหญิง  ให้สิ้นไปจากสันดานในภพทั้งสามนี้ให้สิ้นไป  ให้ไกลจากอาสวะทั้งหลายไม่มีแก่ตน  ไปได้ทุกตัวคนนิพพานอยู่ที่นั้นเป็นแน่นอน  ความสงสัยก็ไม่มีแก่ท่านเหล่านั้นแต่อย่างใด ฯ

เวลา..วันที่..ขณะนี้...

 

 

Created on..............: Sat, Jul 13, 2002

ปรับปรุงแก้ไขข้อมูลครั้งหลังสุด  23/10/2562 10:25:33

ติดต่อผู้ดูแล web:  webmaster@luangpochom.com

luangpochom