วิธีนั่งสมาธิ
ผู้ปฏิบัติที่ได้ทำการยกครูบูชาคุณพระมาแล้วดังกล่าวจากข้างต้นนั้น ให้ทำการนั่งสมาธิต่อไปตามกำลังสติของตน โดยถือเอาการจุดธูปไว้เป็นกำหนดในการนั่ง จะให้นานประมาณหนึ่งช่วงธูป หรือครึ่งช่วงธูปก็ได้ หรือถ้าได้นานกว่านั้นยิ่งดี หรือจะทำสมาธิโดยกิริยาอย่างอื่น นอน ยืน เดิน ก็ได้ หากแต่จะทำจิต จะต้องตั้งไว้อย่างเดียวเหมือนกันทุกอิริยาบถ การนั่งในท่าที่ถูกต้องนั้นคือ การนั่งแบบสมาธิ โดยคู้บัลลังก์ เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายตรงให้นิ้วหัวแม่มือห่างกันประมาณ 2 นิ้ว โดยอาการสำรวม ปิดตาลงครึ่งลูก คำภาวนาคือกรรมฐาน 5 ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง 5 คำนี้ให้ใช้บริกรรมแต่เพียงคำเดียว คำไหนก็ได้ตามแต่ถนัด แล้วก็ให้พิจารณาแต่เพียงจุดเดียวเท่านั้น ให้จนเกิด ให้มี ให้เห็น ให้สว่างแจ่มแจ้ง ให้เห็นว่าอะไรเป็นอะไร จนกว่าจะได้เห็นแสงโอภาส คือความสว่างบังเกิดขึ้นมองเห็นได้รอบตัว ทั้งนอกผาหรือในผา ในดินหรือใต้น้ำจนเกิดความเบื่อหน่ายในผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เกิดความสว่างแจ่มแจ้งเห็นจริงในกองสังขาร แล้วเกิดความสว่างพุ่งขึ้น เห็นอาการ 32 ในกายของตนผู้ปฏิบัติ จนได้เห็นของจริงของ ผมในผมบ้าง ขนในขนบ้าง เล็บในเล็บบ้าง หนังในหนังบ้าง จะมีความรู้แจ้งเห็นจริงในกองสังขารของมนุษย์ และสัตว์ด้วยอำนาจของฌานที่เกิดขึ้น นี่เป็นเพียงขั้นต้นเท่านั้นผู้ปฏิบัติอย่าได้ท้อถอย ให้ทำเพียรต่อไปจนถึงความสว่างในองค์ฌานตามลำดับที่สองสืบไป จนเบื่อหน่ายเห็นทุกข์ในกองสังขารของตน ขั้นต่อไปจึงให้ใช้คำบริกรรมว่า "อรหัง" ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
ผู้ปฏิบัติที่ยังครองเรือนอยู่ไม่ว่าหญิง-ชายทำได้ทั้งนั้น หากปฏิบัติมาได้ตามลำดับที่หนึ่งนี้ผู้ปฏิบัติจะเกิดองค์ฌาน คือความสว่างตามที่กล่าวมานั้น อาจสามารถละสักกายะทิฐิ (หมายความว่า หลงเอาความรู้สึกเป็นตัวตน ไปผูกพันไว้ว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับขันธ์ 5 ด้วยอำนาจของความเขลาคือติดอยู่ในขันธ์ 5 ด้วยความเขลาของตนเอง) ได้เป็นส่วนมาก หากแต่การเบื่อหน่ายเกิดไม่ได้คงที่ เกิดๆ ดับๆ ขาดบ้างต่อบ้าง เมื่อขาดจากทางอื่นมาแล้ว ยังเหลือความยินดีในสามีภรรยาของตนอยู่ ทั้งนี้ด้วยเหตุการณ์ปฏิบัติยังไม่พอ ไม่สามารถตัดขาดจากกามกิเลสในตนของตนได้ เป็นแต่มีความสว่างในองค์ฌาน มองเห็นดวงธรรมแต่ผิวเผิน ฉะนั้นผู้ปฏิบัติมาถึงขั้นนี้ อุปมาเหมือนอย่างแย้แบ่งรูทำช่องไว้สองทาง ช่องหนึ่งเป็นทางหนีออกสู่ป่า เมื่อถูกนายพรานตามล่าก็จะวิ่งหนีไปทันที นายพรานนั้นคือโลกธรรมแปดประการ ได้ขุดรูตามสังหาร เช่น นินทา สรรเสริญ ส่อเสียด บีบคั้นเรานั้นเอง ช่องแย้ที่แบ่งรูไว้วิ่งออกสู่ป่านั้น คือ จิตของผู้ปฏิบัติย่อมหาหนทางหนีออกเสมอไป เมื่อไหร่ผู้ปฏิบัติเกิดความสว่างแจ่มแจ้งในองค์ฌาน เห็นตามทางพระธรรมวินัย เมื่อนั้นแหละผู้ปฏิบัติจึงจะหนีออกเสียได้เป็นเด็ดขาด
เวลา..วันที่..ขณะนี้...
Created on..............: Sat, Jul 13, 2002
ปรับปรุงแก้ไขข้อมูลครั้งหลังสุด 23/10/2562 10:25:31
ติดต่อผู้ดูแล web: webmaster@luangpochom.com
luangpochom