ทางปฏิบัติมรรคผลนิพพาน

 

ทางปฏิบัติมรรคผลนิพพาน เรียกว่าอริยมรรคมีองค์แปด ดังนี้คือ

 

               1.  สัมมาทิฐิ  ความเห็นชอบคือเห็นทางมรรคผลนิพพานนั้นเอง

 

               2.  ความดำริชอบคือ  ความคิดเห็นในทางสามัคคีธรรมนั้นเอง

 

               3.  การพูดจาชอบคือ  การพูดบอกทางที่นำความสุขมาให้นั้นเอง

 

               4.  การทำการงานชอบคือ  การทำการงานเพื่อตนและผู้อื่นให้ถึงขั้นบรรลุไปด้วยดี

 

               5.  การเลี้ยงชีวิตชอบคือ  เลี้ยงชีวิตตนโดยชอบธรรม  ตามเกิดตามมีนั้นเอง

 

               6.  ความพากเพียรชอบคือ  เพียรละจากสิ่งเร่าร้อน  ให้ประกอบสิ่งที่ดีนั้นเอง

               7.  ความระลึกชอบคือ  ระลึกถึงคุณความดีที่ท่านยกให้แก่เราแล้ว  สมควรระลึกอยู่เสมอ ๆ  นั้นเอง

 

               8.  สัมมาสมาธิคือ  ความตั้งใจมั่นชอบคือ  ความตั้งใจมั่นในทางปราศจากกองทุกข์ทั้งปวงนั้นเอง

 

               มรรคผลนิพพาน  มรรคแปลว่า  ทางกระทำความดีสามัคคีธรรม

 

               ผลแปลว่า......... ความสงบ

 

               นิพพานแปลว่า ความสุขนั้นเอง

 

               ต่อนี้เป็นทางปฏิบัติไปตามทางศีล-สมาธิ-ปัญญาของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองเป็นทางมรรค-ผล-นิพพาน  ไว้ให้หมู่เราท่านชาย-หญิงทุก ๆ  คน เดินตามแล้วไปถึงพระนิพพานได้ด้วยกันทุก ๆ  ตัวคน  ไม่ว่าท่านชายและท่านหญิงไม่เลือกชั้นวรรณะ ไม่เลือกกาลเลือกเวลา  ยืน-เดิน-นั่ง-นอน  ได้ทั้งนั้น  ไม่เลือกชาติไม่เลือกภาษา  ขอแต่ว่าเป็นมนุษย์โสสิ จะเป็นหญิงหรือชายก็ตามแต่สามารถทำจิตใจตน  ให้เข้าสู่มรรค-ผล-นิพพานได้ด้วยกันทั้งนั้น แต่ให้รู้ทางมรรค-ผล-นิพพานนั้นคืออะไร  ทางสายไหนต่อสายไหน  ทางเวียนว่ายเกิดตาย เป็นโอปาติกะอยู่ในกามภพโลกนี้ก็มี  ก็เพราะติดนั้นเอง  ทางจะไปนรกอเวจีก็มี  ได้แก่ผู้กระทำบาปหยาบช้า ผู้เขาจะเดินกันไปนั้นเอง  ทางจะไปสวรรค์ก็มีได้แก่ผู้ทำทานรักษาศีลภาวนา  หมู่ท่านชาย-หญิงเหล่านี้ ก็จะพากันเดินเข้าไปสวรรค์วิมานต่อ ๆ  ไปนั้นเอง  เพราะว่าสัตว์มนุษย์ชาย-หญิงทุก ๆ  วันนี้ตกหลุมพรางของทุกขสัจจ์กันจนจะหมดอยู่แล้ว  จะหาทางสิ้นสุดลงมิได้เลย  รวยก็ไม่มีที่สุด จนก็ไม่มีที่สิ้นสุดลงไปได้แต่อย่างใด  แม้แต่สังขารตายแตกดับไปแล้วก็ตาม  ก็ยังไม่สิ้นสุดจิตใจที่เป็นองค์ไม่ตายนั้น ก็จะติดจน-ติดรวยอยู่นั้นเอง ฯ

 

               ทางพิจารณาปฏิบัติในทางศีล-สมาธิ-ปัญญาทางพุทธศาสนาสัมมาสัมพุทธเจ้าของหมู่เราชาวพุทธ เมื่อจะทำสมาธิคือถือใจมั่น  ให้มีจิตใจยินดีในทาน-ศีล-ภาวนา  ให้พิจารณาอยู่ทุกอิริยาบถสี่ยืน-เดิน-นั่ง-นอน ด้วยอานาปานุสสติ  ด้วยความว่างวางเฉย  ต่อสัญญาที่นึกคิดไปข้างหน้าและข้างหลัง  ที่ตาเห็นหูได้ยินให้ปล่อยวางเสีย อย่ากำหนดยึดเอาตรงนั้นตรงนี้  ให้มันเกิดเป็นสัญญาอุปทานสีแสงต่าง ๆ  ด้วยตาวิปริต จะเลยกายเป็นอุปทานด้วยสีแสงที่เราหลับตาหรือเพ่งตา  อย่าทำต่อไปประเดี๋ยวจริตจะเสีย มิใช่เป็นทางศีล-สมาธิ-ปัญญาแต่อย่างใด  เราอย่าไปติดยืนเราอย่าไปติดเดิน  เราอย่าไปติดนั่งเราอย่าไปติดนอน ให้พิจารณาในทุกอิริยาบถ พิจารณาในศีล-ในสมาธิ-ในปัญญา  ทำมรรคผลนิพพานให้แจ้ง  มรรคผลนิพพานนี้  เป็นมรรคผลของศีล-สมาธิ-ปัญญาของพระพุทธเจ้าที่วางศาสนาไว้  คือ  ศีล-สมาธิ-ปัญญา  สามประการนี้เป็นหลักของศาสนา  เป็นทางมรรคผลนิพพาน  มรรคแปลเป็นภาษาไทย ๆ  เราก็คือ “ทางกระทำความดีสามัคคีธรรม”  ทำให้มันเกิด  มันมีขึ้นอยู่ในจิตใจของเรา  ให้รู้แจ้งว่าความดีสามัคคีธรรมนี้ มีเหตุมีผลอย่างยอดเยี่ยม สิ่งอื่น ๆ  จะยิ่งกว่าย่อมไม่มี  นี้เป็นทางของศีล  ผลแปลเป็นภาษาไทย ๆ  เราว่า  “ความสงบ”   พิจารณาด้วยความถือใจมั่นในความสงบให้มันเกิด  ให้มันมีขึ้นในจิตใจของเรา  ให้รู้เหตุรู้ผลว่า สิ่งอันใดจะยิ่งกว่าความสงบย่อมไม่มี  นี้เป็นผลของสมาธิคือ  ความถือใจมั่นนั้นเอง  นิพพานแปลเป็นภาษาไทย ๆ  เราว่า “ความสุข”  คือความสุขที่จิตใจเราอยู่ในศีล-สมาธิ-ปัญญานั้นเอง  นิพพานคือความสุขอย่างยิ่ง  สุขอื่นใดจะสุขยิ่งกว่าสุขพระนิพพานย่อมไม่มี  อันนี้เป็นผลของปัญญาพระพุทธเจ้าเรียกว่านิพพาน ภาษาไทยเราเรียกว่าความสุข  แต่ผู้ปฏิบัติชาย-หญิงให้ทำจิตใจของตน  ให้ถึงความสุขเป็นท้ายที่สุด  ถ้าสุดแล้วก็ถึงสุข ถ้าถึงสุขแล้วก็เป็นสิ่งไม่มี  จิตใจเข้าถึงสิ่งไม่มีได้แล้ว  ก็เป็นความแน่นอนไม่เปลี่ยนแปลงเรียกว่านิพพานคือ ความสุขอย่างยิ่งที่ปราศจากอามิสทั้งปวง  คือนิพพานแล้วไม่กลับแต่อย่างใด  ก็คือสุขแล้วไม่กลับแต่อย่างใด  เรียกว่า “สุด”  เป็นสิ่งไม่มีคือนิพพานคือ  “สุข”  นั้นเอง

 

เวลา..วันที่..ขณะนี้...

 

 

Created on..............: Sat, Jul 13, 2002

ปรับปรุงแก้ไขข้อมูลครั้งหลังสุด  23/10/2562 10:32:18

ติดต่อผู้ดูแล web:  webmaster@luangpochom.com

luangpochom