ธรรมของคฤหัสถ์มีดังต่อไปนี้

 

              1. เป็นธรรมที่สะสมไม่สุรุ่ยสุร่าย

 

               2. เป็นธรรมที่มีความกำหนัดรักใคร่อยู่ในสามี-ภรรยาของตนอยู่เสมอไป   ให้ฝักใฝ่อยู่ในกุลบุตร-หลาน-เหลน  ด้วยพรหมวิหารสี่อยู่เสมอๆ ไป  ให้อยู่ในทาน-ศีล-ภาวนา  ตามสติกำลังของตนที่จะทำได้

 

               3.  เป็นผู้รักษาชื่อเสียงตนและผู้อื่นที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน  รักษาข้าทาสบริวารให้มีความสุขเสมอหน้ากัน

 

               4.  เป็นผู้คลุกคลีอยู่ในหมู่คณะไม่ยอมทอดทิ้งอยู่เสมอๆ ไป

 

               สี่ข้อนี้เป็นธรรมเป็นวินัยของคฤหัสถ์  ต้องทำจิตใจของตนให้เดินไปตามธรรมเหล่านี้  เพราะเป็นธรรมมนุษย์สมบัติ-สวรรค์สมบัติซึ่งเป็นธรรมของคฤหัสถ์โดยจำเพาะ  เป็นทางโลกิยะธรรมคฤหัสถ์  ผู้แสวงหาครอบครัวอยู่ไม่สมควรไปนึกคิดปฏิบัติจิตใจตนของตน  ไปตามทางธรรมโลกุตรธรรม  เพราะมันมิใช่ทางของคฤหัสถ์แต่อย่างใด  โลกุตรธรรมนี้มันเป็นธรรมสำหรับนักบวชชาย-หญิงโดยจำเพาะ  คฤหัสถ์ไม่สมควรเอามาพูดมาคุยธรรมมัจฉากัจฉากัน  มันไม่เกิดเป็นมรรคผลแก่คฤหัสถ์แต่อย่างใด  คฤหัสถ์นั้นเมื่อจะปฏิบัติจิตใจของตนก็มีอยู่ 3 ทางด้วยกันเท่านั้นคือ

 

               1.  เราให้มีสติน้อมนึกให้ได้อยู่เสมอๆ  เพื่อจะละเลิกจากบาป  จะบำเพ็ญแต่สิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศลอย่างเดียว

 

               2.  เราจะพยายามทำจิตใจของเรา  ให้มีความเมตตาสามัคคีซึ่งกันและกัน

               3.  เราจะพยายามทำจิตใจของเราให้สงบ

 

               สำหรับคฤหัสถ์มีดังนี้เพราะนอกจากนี้มันไม่ใช่ธรรม  ไม่ใช่ศีลสิกขาบทของพระพุทธเจ้าแต่อย่างใดนะท่านชาย-หญิง  คำสอนของพระพุทธเจ้าหรือว่าสมาธิกรรมฐานอันใดก็ดี  เป็นแนวทางปฏิบัติในอิริยาบถสี่คือ  ยืน-เดิน-นั่ง-นอน ได้ทั้งนั้น  วิธีอบรมจิตใจตนนั้นให้ทำจิตให้หยุดอยู่ในนิ่งไม่นึกคิดอะไร ไม่พูดไม่ฟังเสียงอะไรทั้งนั้น  ถ้าจิตมันไม่อยู่นิ่งก็ให้ภาวนาว่า  อะระหัง หรือ อาระหัง  สามคำนี้ให้ภาวนานึกคิดอยู่ในจิตใจของตนไม่ให้ลิ้นกระดก  พอเรารู้สึกว่าจิตใจเราหยุดหรือนิ่งอยู่แล้ว  ก็ให้สติรู้อยู่ให้ใช้ปัญญาที่ตนมีอยู่นั้นพิจารณาลมหายใจเข้า-ออก  ให้มีสตินึกรู้ว่าลมหายใจเข้า-ออก  ในขณะนี้มันออกสั้นหรือยาวให้รู้ทางปัญญาของตน  หายใจเข้าลมมันสั้นหรือยาวเราให้มีสติอยู่เราให้มีสัมปชัญญะปัญญา  ความรู้ไตร่ตรองพิจารณาอยู่กับลมนั้นให้สบาย  ให้จิตใจปลอดโปร่งเสียก่อน  อย่าไปใช้สัญญากำหนดลมของตน  โดยความจำได้หมายรู้ในอุปาทานเป็นอันขาด  ถ้าเราไปใช้สัญญาความจำมันก็จะเกิดเป็นอุปทานไป  และปัญญาจะไม่เกิดนะท่าน  เราให้รู้ว่าลมหายใจเข้า-ออกนี้เป็นธรรมอันไม่ตาย  วนเวียนอยู่ในภพทั้งสามนี้  ปฏิสนธิเข้าเกิดอยู่ในร่างสัตว์มนุษย์และสัตว์เดียรัจฉานโลกนี้  จะหาทางที่จะสิ้นสุดลงมิได้เพราะความนึกคิดที่ติดอยู่ในกามสังขารตนและผู้อื่น  ว่าเป็นที่พึ่งที่อาศัยของตนอยู่เสมอๆ ไป  มิได้นึกคิดถึงสังขารร่างกายของสัตว์มนุษย์และสัตว์เดียรัจฉาน  ว่าเป็นสิ่งที่ตายได้ไม่ถาวรแต่ประการใดจะหาทางรู้กันได้ไม่  พระพุทธเจ้าท่านสั่งสอนออกนักออกหนาว่า  ให้ท่านนึกคิดถึงความตายที่จะมาถึงร่างกายสังขารตนและผู้อื่นให้เป็นเนืองนิตย์  ให้ดูลมหายใจเข้า-ออกของตนนั้นเป็นเนืองๆ  ให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรกันบ้าง  อย่าไปหลงว่ามีแต่รูปแต่นามว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้  ทำให้ผู้ปฏิบัติหลงไปตามนิมิตว่าเป็นรูปเป็นนาม  ไปหาว่ารูปธรรมนามธรรมก็ดีใจ  เลยกลายเป็นจิตให้เกิดวิปลาส  ขาดจากสติสัมปชัญญะปัญญาไปโดยไม่รู้ตัว  เพราะผู้นำรู้ไม่เท่าทันในเรื่องจิตใจว่าเป็นอย่างไร  เพราะผู้นำเปลี่ยนทางจิตใจให้ผู้ปฏิบัติชาย-หญิงไม่ถูกในทางสัมมาทิฐินั้นเอง  ทำให้จิตใจผู้ไปติดอยู่ในอุปาทานในทางรูปภพ-นามภพ  ธรรมนั้นเป็นรูปเป็นนามที่ปะปนปฏิสนธิอยู่ในกามภพโลกมนุษย์และสัตว์นี้อยู่  เป็นรูปไม่เที่ยง-เป็นนามไม่เที่ยง-เป็นธรรมไม่เที่ยง  รูปธรรม-นามธรรมนี้เป็นสิ่งไม่เที่ยง  เพราะว่ารูปธรรม-นามธรรมนี้เป็นสิ่งวนเวียนท่องเที่ยวอยู่ในภพทั้งสามนี้  เป็นรูปไม่เที่ยง-เป็นธรรมไม่เที่ยง  เป็นนามไม่เที่ยง-เป็นธรรมไม่เที่ยง  ผู้ปฏิบัติทั้งหลายชาย-หญิงให้พิจารณาให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร  รูปธรรม-นามธรรมทั้งหลายเหล่านี้ไม่เที่ยง  ท่านอย่าได้ไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนบุคคลเราเขานะท่าน  อย่าไปหลงอยู่ในรูปธรรม-นามธรรมว่าเป็นทางปฏิบัติ  รูปธรรม-นามธรรมอยู่ในโลกมนุษย์ เรานี้ก็มีรูปธรรม-นามธรรม-อบายภูมิ-นรกโลกันตร์ก็มีรูปธรรม-นามธรรมเหมือนกัน  แต่เป็นรูปไม่เที่ยง-เป็นธรรมไม่เที่ยง  เป็นนามไม่เที่ยง-เป็นธรรมไม่เที่ยง  รูปธรรม-นามธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง  จิต-เจตสิก-รูป-นิพพานนั้นมิใช่รูปธรรม-นามธรรมแต่อย่างใดนะท่าน  รูปนิพพานนี้เป็นรูปที่แน่นอนเป็นรูปที่ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นรูปหนึ่งไม่มีสอง  ที่ให้ยึดเอานิพพานมาเป็นอารมณ์ก็เพราะรูปนิพพาน  นามคืออารมณ์ส่วนนิพพานนี้เป็นรูปในรูป  ที่จะเข้าสู่พระปรินิพพานพ้นออกจากทุกข์ทั้งปวง  ให้ผู้ปฏิบัติจงพิจารณาจะรู้ได้โดยจำเพาะตนเอง

 

 

               ดูก่อนนักบวชผู้ปฏิบัติทั้งหลาย  ให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรกันบ้าง  ธรรมทั้งหลายต้องมีมาจากมูล  รูปธรรมก็ดีนามธรรมก็ดี  ต้องมาจากมูลสามให้เกิดเป็นมูล  มูลนั้นให้เกิดเป็นรูปต่างๆ กันเช่น  ขาวบ้าง-ดำบ้าง  ขี้เหร่บ้าง  สวยงามบ้าง  รูปนามก็ดีรูปธรรมนามธรรมก็ดีมาจากธรรมด้วยกันทั้งนั้น  มาจากคัมภีร์พระคาถาวัตถุคือกายบ้าง  มาจากคัมภีร์พระบุคคลบัญญัติคือปากกับลิ้นบ้าง  มากจากคัมภีร์พระยมกคือใจบ้าง  มาปรุงขึ้นเป็นบัญญัติขึ้นตามรูปธรรมนามธรรม  ผู้ปฏิบัติอยู่กันทุกวันนี้ก็เป็นผู้แสวงหารูปธรรมนามธรรมกันนั้นยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร  ว่าเป็นรูปธรรมนามธรรมกันแน่  ก็มีเป็นส่วนมากเพราะไม่รู้มูลที่จะมาปรุงให้เกิดเป็นรูปธรรมนามธรรมนั้นก็คือ  กายกรรมสาม-วาจากรรมสี่-มโนกรรมสาม  เรียกว่ามูลสามรวมกันเข้าเป็นสองคือ  กุศลมูล 1 อกุศลมูล 1 นั้นเองมาปรุงขึ้นเป็นรูปธรรมนามธรรม  รูปนอกรูปในด้วย  นามนอกด้วยนามในด้วย  เป็นธรรมที่ปรุงกันขึ้นด้วยกันทั้งนั้น  ผู้ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานอันใดใดก็ดี  ก็เพื่อให้รู้เพื่อให้สว่างแจ่มแจ้งในรูปธรรมนามธรรมนั้นคือ  ให้ผู้ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานนั้นๆ  เพื่อให้รู้จักบุญและรู้จักบาปนั้นเอง  พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า… “ท่านอย่าไปถือว่าเป็นของเก่าที่ถือสืบๆ กันมา  อย่าไปถือโดยอ้างตามตำรา  อย่าไปถือว่าผู้พูดควรเชื่อได้  อย่าถือตามในมงคลตื่นข่าว  โน  โน  ครูติ  อย่าไปถือว่าภิกษุรูปนั้นรูปนี้เป็นครูบาอาจารย์ของเรา  ให้หมู่ท่านชายหญิงถือว่าบุญมีจริงบาปมีจริงนี้”   ที่มาปรุงให้เป็นรูปธรรม-นามธรรม  เพื่อให้ผู้ปฏิบัติรู้รูปรู้นามในรูปกุศลมูลและรูปอกุศลมูล  รูปเหล่านี้นามเหล่านี้จะมานำจิตใจของท่านให้เข้าไปสู่มูลต่างๆ กันด้วยการกระทำของตนนั้นเอง  ท่านเรียกว่าไปตามรูปธรรมนามธรรม  ก็คือว่าไปตามกรรมตามเวร  ตามบุญตามบาปของผู้กระทำนั้นๆ ของตนที่กระทำไว้ดังนี้เป็นต้น  พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่า  รูปนามไม่เที่ยงธรรมทั้งหลายนี้ไม่เที่ยง  ผู้ปฏิบัตินักบวชทั้งหลายจะไปหลงงมๆ งายๆ อยู่ในธรรมอันไม่เที่ยงนั้นหรือ  จงให้พิจารณาใช้สติปัญญาของตนให้เห็นทางละเว้นปราศจากกองทุกข์  ในรูปธรรมนามธรรมอันเป็นสิ่งไม่เที่ยง  สิ่งอันใดไม่เที่ยงสิ่งอันนั้นเป็นทุกข์ให้ละเว้นเสียให้สูญสิ้นไป  ในมูลนั้นรูปนามก็ดีรูปธรรมนามธรรมก็ดี  เราจะไปพิจารณาในธรรมอันไม่เที่ยงนี้ให้เกิดให้ตายเป็นร้อยเป็นพันกัป  ก็จะหาทางจบลงมิได้เพราะธรรมรูปนามไม่เที่ยง  พระพุทธเจ้าตรัสบอกไว้ในธรรมเหล่าใดสิ่งอันใดไม่เที่ยงให้ละเว้นออกไป  หรือให้หลีกไปเสียให้พ้นอย่าไปถือว่าเป็นตัวตนบุคคลเราเขา  ท่านเหล่าใดไปถือว่าเป็นตัวตนคงจะไม่พ้นอบายมุขคือความทุกข์นั้นเอง “พระพุทธองค์ท่านสรรเสริญซึ่งพระธรรมอันล้ำเลิศประเสริฐศรี  ท่านเหล่าใดได้ลิ้มรสจะปรากฏด้วยปัญญา”

 

เวลา..วันที่..ขณะนี้...

 

 

Created on..............: Sat, Jul 13, 2002

ปรับปรุงแก้ไขข้อมูลครั้งหลังสุด  23/10/2562 10:26:32

ติดต่อผู้ดูแล web:  webmaster@luangpochom.com

luangpochom